King Penguins & Beach Landing Experience | คิงเพนกวินแห่งขั้วโลกใต้


เล่าถึงสมัยที่ใช้ชีวิตเป็นพนักงานเรือ ปีนั้น เรือล่องขั้วโลกใต้กันเป็นเดือนๆ ช่วงสำรวจโลกและอารยธรรม หรือ Expedition จากที่โคตรตื่นเต้น เห็นภูเขาน้ำแข็งรอบด้าน จนเริ่มเบื่อ เพราะ ติดทำงาน ออกจากเรือก็ไม่ได้ จะออกได้ต้องลงชื่อช่วยงาน

การจะออกจากเรือ ช่างลากลำบากนัก ใครๆ ก็อยากรีบลงชื่อออกมาช่วยงานเพื่อสูดอากาศนอกเรือ วันไหนถ้าต้องทำงานก็พลาดไป และแล้วมันก็ถึงวันของเรา เมื่อวันหยุดมาถึง รู้ล่วงหน้าว่าหยุดวันไหน รีบไปลงชื่อไว้ก่อน และวันนั้นมันตรงกับเรือไปจอดลอยลำกลางทะเลข้างๆเกาะสิงสาราสัตว์ และ King Penguins แห่ง Antarctica




ต้องเล่าย้อนให้ฟังถึงกฏเกณฑ์การทำงานเรือสักนิด หากเข้าช่วง Expedition เรือจะลอยกลางมหาสมุทร แล่นไปในจุดสำรวจ ส่วนมากจะเป็นการจอดเพื่อทำกิจกรรมอะไรสักอย่างของบรรดาแขกผู้จ่ายเงินมาแพง ซึ่งบางกิจกรรมกินเวลาไม่นาน และอาจมีได้ครั้งเดียวต่อวัน หรือต่อสถานที่
ดังนั้นมันหมายถึง เฉพาะแขกนั่นแหละที่มีสิทธิ์ลง ณ ผืนดินตรงนั้น ส่วนพนักงาน ก็ทำหน้าที่ต่อไปบนเรือให้สาสมกับค่าจ้างที่ถูกจ้างมาแพงพอกัน 555  


ช่วงการสำรวจจะอนุญาตพนักงานให้ออกจากเรือได้ ก็ต่อเมื่อลงไปช่วยงาน เรียกว่าการ Beach Landing อำนวยความสะดวกให้กับแขกบนเรือ เช่น ไปช่วยใส่ชูชีพ ไปช่วยขับเรือยางเล็ก ไปช่วยประคองเรือยาง

การมาทำ Beach Landing ไม่สามารถทำแบบคนเดียวยิงยาวไป 3-4 ชั่วโมงได้ จึงต้องเปิดเป็นรอบๆ หาผู้อาสาออกมาช่วยงาน คือหนาวนะเธอ อยากอยู่นานๆเหมือนกันแหละ แต่อยู่ข้างนอกที่อุณหภูมิต่ำกว่า 2-3 องศา แค่ชั่วโมงเดียวก็ปากสั่นแล้ว ไหนจะหิว ไหนจะปวดฉี่ อีกสารพัด เพื่อนๆคนอื่นเค้าก็อยากมาหายใจอากาศข้างนอกบ้าง ก็สลับๆกันมา



เมื่อเดินทางมาถึงเกาะ เป็นเรื่องน่าแปลกใจและเห็นชัดว่า สัตว์พวกนี้ดูไม่กลัวคน ดูมีความคุ้นเคยกับมนุษย์สูง แทบไม่แตกตื่นเมื่อมีมนุษย์มาเยือนถิ่นพวกมัน อาจเป็นเพราะ การสำรวจดินแดนขั้วโลกใต้ ทำได้ง่ายขึ้น และคนหลายกลุ่มเริ่มเข้ามาถึงที่นี่มากขึ้น 



ระหว่างที่แขกเรา สำรวจไปถึงยอดเขาแล้ว(มั้ง) เรายังประจำการ เดินถ่ายรูป สิงโตทะเล ไปไม่ถึงไหน 
และสลับกันเบรคกับเพื่อนที่มารอบเดียวกัน ออกสำรวจตามประสาเรา ใครสามารถจะไปถึงยอดเขาในเวลาจำกัดก็ตามสบายนะ ขอผ่าน.... จริงๆแล้ว ลงชื่ออกมาทำงานแค่ 1-2 ชั่วโมง ไม่มีเวลามากพอที่จะขึ้นถึงยอดเขาอยู่แล้ว ส่วนมาก พวกเราก็แค่อยากออกมาสูดอากาศนอกเรือบ้างเท่านั้นเอง หลังจากได้เดินเล่นแถวๆนี้ เราก็กลับมาจุดที่ Beach Landing รอเพื่อนจากบนเรือมาเปลี่ยนตัว 



ที่เกาะแห่งนี้ อากาศเย็นมากอยู่แล้ว มองไปบนยอดเขา เห็นหิมะปกคลุม และมีเกล็ดหิมะปลิวมาตามลมเป็นระยะๆ เดินอยู่ข้างล่างยังหนาวขนาดนี้ ข้างบนคง....


การแต่งตัวที่เหมาะสม คือ จะใส่เสื้อผ้าข้างในกี่ชั้นก็ได้ให้อบอุ่น แต่ข้างนอกเป็นเสื้อคลุมแบบนี้ เป็นชุด ที่มีผ้าบุหนาแน่นให้ความอบอุ่นสูงและที่สำคัญ ชุดนี้มัน กันทั้งลมและกันหิมะ มันอาจเปียกได้แต่มันแห้งเร็ว มันกี่ชั้นไม่รู้แต่ตรงข้อมือมันมีปิดข้อมือแน่นหนาอีกชั้นกันลมเข้า รูดซิบปิดให้หมดแล้วดึงผ้าคลุมปากที่อยู่ชายผ้าด้านในขึ้น เท่ากับโผล่ออกมาแต่ตา hahaha!!!ถุงมือชนิดพิเศษ ที่สามารถปั้นตุ๊กตาหิมะ หมวกขนปุยที่เอามาปิดหูปุ๊บจะรู้สึกหูตูบและอุ่นเหมือนเป็นลูกหมานอนกกแม่ รองเท้าพิเศษเพื่อการเดินบนหิมะ 



เท่านี้เราก็พร้อมสำหรับการสำรวจ 

ช่วงแรกๆที่จะเจอคือ เพนกวินที่อาศัยอยู่ติดชายฝั่งทะเล  มีเยอะมาก แต่ไม่แน่ใจว่า มันจะมีโอกาสได้เดินเข้าไปข้างในเกาะบ้างมั้ย
ขณะเดียวกันริมฝั่ง จะเจอแมวน้ำ นอนเกยเยอะแยะมากมาย ส่วนมากจะอยู่กันเป็นฝูง อยู่ในบริเวณที่เพนกวินอยู่น่ะแหละ แถมยังเห็นเพนกวินเดินเฉียดไปใกล้ๆ ดูเป็นเรื่องที่แปลกมาก เพราะเรามักจะเห็นมันไล่กินเพนกวินในการ์ตูน และในชีวิตจริง เคยเห็นมันไล่กินเพนกวินมาแล้ว








ทางเดินที่เราเดินเลาะไป มีแม่น้ำสายเล็กๆกั้นไว้ พร้อมทั้งเจอเพนกวินที่ ทำท่าเสมือนว่านอนอาบแดด





เราพบอะไรบางอย่างที่คาดว่า หลายคนไม่เคยเห็นแน่ๆ มันคือ ซากเพนกวินที่ตายแล้วรวมทั้งเศษขนที่เพนกวินผลัดเอาไว้ ( ดูแล้วน่าเอาไปยัดหมอนนัก )




ภาพสวยๆของเหล่าเพนกวินทั้งฝูง ลูกๆที่อ้อนแม่ เด็กๆที่ตัวใหญ่แล้วแต่ผลัดขนไม่หมด ทำให้ดูเหมือนเพนกวินสีน้ำตาล และเพนกวินมีขนเป็นหย่อมๆ 555







และ กวางขนร่วงที่เคยพูดถึง



ที่นี่ดูเหมือนเกาะสวรรค์สำหรับ สิงโตทะเล แมวน้ำ คิงเพนกวิน และกวางขนร่วง (ที่น่าสงสาร )
ขออภัยนะคะ รูปไม่สวย เบลอๆเพราะ มือสั่น(ด้วยความหนาว) พอใส่ถุงมือ ดันกดชัตเตอร์ไม่ได้ พอจะกดทีต้องถอดถุงมือที เดินสำรวจไป ใส่ถุงมือเข้าๆออกๆ เพื่อเก็บรูปนี่แหละ

บล้อกของเรานี้ออกแนวหาสาระไม่ค่อยได้ อธิบายที่มาที่ไปก็ไม่ได้เพราะไม่มีเวลาในการสำรวจมากพอ รูปก็ไม่เยอะ แค่อยากบันทึกเรื่องราวการเดินทาง(ก่อนจะลืมไปมากกว่านี้ 5555 ) และอยากจุดประกาย ให้คนรุ่นหลัง ที่ยังมีโอกาสได้เดินทาง ลองออกสำรวจ ดินแดนแห่งความน่าพิศวงอย่าง Antarctica ดูนะ





0 comments: